Home HEALTH ก่อนจะเป็นโรคมะเร็งปอด เลิกบุหรี่อย่างไรไม่หักดิบ – เดลีนีวส์

ก่อนจะเป็นโรคมะเร็งปอด เลิกบุหรี่อย่างไรไม่หักดิบ – เดลีนีวส์

by admin2 admin2
104 views
ก่อนจะเป็นโรคมะเร็งปอด เลิกบุหรี่อย่างไรไม่หักดิบ – เดลีนีวส์

ถ้าถามว่า…การเลิกสูบบุหรี่ยากไหม? ในเวลาที่เราเครียด เหงา เศร้า กลุ้มใจ หรือเวลาสนุกก็คิดถึงบุหรี่ เข้าสังคมก็บุหรี่ ก่อนและหลังอาหารก็บุหรี่ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรม “การติดบุหรี่” แต่เทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยให้เลิกบุหรี่ คือ กำจัดอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ทั้งหมด อย่าเข้าใกล้คนสูบบุหรี่ แม้ช่วงแรกอาจรู้สึกหงุดหงิด ให้สูดหายใจเข้าออกลึก ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ อาบน้ำให้สบายตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้การกลับมามีสุขภาพดีก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ในควันบุหรี่ 1 ม้วน มีสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นสารพิษ 250 ชนิด และสารก่อมะเร็งกว่า 50 ชนิด ยิ่งสูบนานเท่าไหร่ก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคภัยที่บั่นทอนชีวิตให้สั้นลง นอกจากนี้ข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 60 ยังพบว่ากรุงเทพฯ ปี 59 มีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1 ล้านคน และเสียชีวิตจากบุหรี่ราว 6,000 คน

นพ.เอกชัย เสถียรพิทยากุล อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ รพ.กรุงเทพ บอกว่า การไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ คือ หนทางของการดูแลสุขภาพที่ดีในระยะยาว เพราะเมื่อสูบบุหรี่ไปนาน ๆ ปอดจะถูกทำลายเรื่อย ๆ ส่งผลให้เป็นโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง และร้ายแรงจนเป็นโรคมะเร็งปอดได้ในที่สุด พิษของบุหรี่ยังเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งที่ปอด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ ตับอ่อน อีกทั้งสารพิษในควันบุหรี่ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบลง อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือดได้ นอกจากนี้ยังมีผลต่อ “เด็กทารกในครรภ์” ทำให้หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการแท้ง คลอดลูกเสียชีวิต และยังทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง

ทว่าการติดบุหรี่นั้น เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่…เราสามารถป้องกันได้ แต่หลายคนเข้าไม่ถึงบริการในการช่วยเลิกบุหรี่ จึงเลือกวิธีการ “เลิกแบบหักดิบ” ซึ่งมีโอกาสกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ อาจรู้สึกท้อแท้ได้ เนื่องจากธรรมชาติของโรคติดบุหรี่เป็น “โรคเรื้อรัง” ที่เป็น ๆ หาย ๆ ดังนั้นการรักษาโดยแพทย์ ปฏิบัติตามคำแนะนำหลังประเมินความรุนแรงของการติดบุหรี่ โดยปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ทำให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้

1.สารนิโคตินทดแทน ซึ่งจะช่วยลดอาการอยากบุหรี่ และลดอาการถอนนิโคติน ในประเทศไทยมียาในรูปแบบหมากฝรั่งและแบบแผ่นติดผิวหนัง

2.ยากลุ่มที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน ได้แก่ nortriptyline buproprion SR varenicline ยาเหล่านี้มีฤทธิ์ช่วยลดอาการอยากบุหรี่ได้ และทำให้สามารถเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะได้รับทานประมาณ 8-12 สัปดาห์

พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์ แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง รพ.วัฒโนสถ ให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยมะเร็งปอดพบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ การสูบบุหรี่ รวมถึงการรับบุหรี่มือสอง อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไอ เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ไม่มีแรง เบื่ออาหาร ปวดตามตัวหรือกระดูก

การรักษามะเร็งปอดหากเป็นระยะแรกจะใช้ “การผ่าตัด” ร่วมกับ “การฉายแสง” และ “เคมีบำบัด” ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง หากเป็นระยะกระจายหรือที่เรียกกันว่า “ระยะที่ 4” จะใช้การรักษาด้วยยา มีทั้ง เคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) หรือยากลุ่ม Immunotherapy คือ การให้ยาเพื่อให้เม็ดเลือดขาวไปทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้ใช้มากขึ้นในมะเร็งหลายชนิด แต่มะเร็งปอดยังถือเป็นการตายจากมะเร็งอันดับหนึ่ง และหากพบมะเร็งปอดระยะแรกมีโอกาสรักษาให้หายได้ ฉะนั้นจึงควรลด ละ เลิกสูบบุหรี่

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ เผยสถิติที่น่าสนใจ ผู้ที่สูบบุหรี่ส่งผลให้เส้นเลือดเสื่อมและตีบตันเร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 10-15 ปี ขณะที่หญิงสูบบุหรี่ที่ได้รับยาคุมกำเนิดเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าหญิงทั่วไปเกือบ 40 เท่า และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า ที่สำคัญคือสารพิษในควันบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและหัวใจอย่าง “นิโคติน” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจหดตัว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้สารพิษอีกชนิดที่มีความรุนแรงไม่แพ้กันคือ “คาร์บอนมอนอกไซด์” เมื่อเข้าไปจับตัวกับเม็ดเลือดแดง กล้ามเนื้อหัวใจจะได้รับออกซิเจนน้อยลง หัวใจเต้นเร็วและทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้นคนที่เลิกสูบบุหรี่นานกว่า 10 ปี โอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจจะเทียบเท่ากับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ และดูแลป้องกันหัวใจให้แข็งแรง คือ สิ่งที่ควรตระหนักอยู่เสมอ.


……………………………….


คอลัมน์ : Healthy Clean


โดย “ทวีลาภ บวกทอง”



คลิกติดตามอ่านการดูแลสุขภาพได้ทั้งหมดที่นี่ 

ร่วมสนับสนุนโดย :

Read More

You may also like

Leave a Comment